ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมา


                ปี พ.ศ. ๒๕๐๙  จังหวัดน่าน  ถูกแทรกซึมจากฝ่ายตรงข้ามและผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์  กองทัพบก  จึงได้จัดกำลังทหารจากหน่วย  กองพลทหารม้า  เข้ามาทำการปราบปราม
                ปี พ.ศ. ๒๕๑๒  กองทัพบก  จัดตั้งหน่วย “จังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ (ส่วนแยกน่าน)”  ขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดน่าน
                ปี พ.ศ. ๒๕๓๓  กองทัพบก  จึงได้แปรสภาพหน่วย  จังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ (ส่วนแยกน่าน) เป็น “จังหวัดทหารบกน่าน"

การจัดตั้งหน่วย
               จังหวัดทหารบกน่าน   จัดตั้งตามคำสั่ง  ทบ. (เฉพาะ) ที่ ๑๐๓ / ๓๓  ลง  ๒๒  ก.ค. ๓๓  เรื่องอัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ (ครั้งที่ ๑๓)  โดยให้ใช้อัตราการจัดยุทโธปกรณ์  หมายเลข ๕๑ – ๓๐๒ (๕  ส.ค. ๓๑)   เป็นจังหวัดทหารบกน่าน ชั้น ๒
       

เกียรติประวัติของหน่วย
               ให้การสนับสนุน , กองพลทหารม้าที่ ๑  ส่วนหน้า , กองบัญชาการผสมพลเรือน / ตำรวจ / ทหารที่ ๓๒  ชุดควบคุมที่ ๓๒  จนกระทั่งแปรสภาพเป็น กองกำลังผาเมือง ,  ในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวตามแนวชายแดน ไทย – ลาว   โดยเริ่มดำเนินการ  ตั้งแต่ปี  ๒๕๐๘  จนสามารถจัดตั้งเขตงานได้  ๙  แห่ง , ขยายอิทธิพลครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดน่าน โดยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้เปิดฉากต่อสู้กับ  กองกำลังฝ่ายรัฐบาล   เมื่อวันที่ ๒๖ ก.พ. ๒๕๑๐ ที่บ้านน้ำปาน ต.นาไร่หลวง อ.ทุ่งช้าง จังหวัดน่าน  นับเป็นวันแรกของเสียงปืนแตกที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย  
 
 
               เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น กรมทหารม้าที่ ๒ ได้รับคำสั่งให้จัดกำลังจากกองพันทหารม้าที่ ๗ , กองพันทหารม้าที่ ๑๐ , เข้าปฏิบัติหน้าที่  และเมื่อสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก กองทัพบกได้มีคำสั่งให้กองพันทหารม้าที่ ๖  เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย จนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๔   กองทัพบกจึงได้มีคำสั่งให้กองพลทหารม้าที่ ๑ ส่วนหน้า , เข้าดำเนินการปราบปราม  กองพลทหารม้าที่ ๑ ส่วนหน้า ได้เปิดยุทธการกวาดล้างกำลังของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง   ควบคู่ไปกับมาตรการทางการเมือง  ยุทธการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ยุทธการณ์พิชิตศึก , ยุทธการณ์โพธิ์ทอง , ยุทธการณ์บูรพา , ยุทธการน่านเกรียงไกร , ยุทธการผาเก้า และยุทธการณ์น่านร่มเย็น  , ยุทธการณ์น่านร่มเย็น เมื่อเดือน ส.ค. ๒๕๑๓ เป็นยุทธการที่ใหญ่ที่สุดของกองพลทหารม้าที่ ๑  ส่วนหน้า  มีกำลังของกองพันทหารม้าที่ ๑๐, ๑๒ , ๑๓ ,๑๔ และ ๑๕  ร่วมกันปฏิบัติการ โดยจัดเป็น ๓ กองรบ , เคลื่อนย้ายกำลังพลทางอากาศ , เข้ากวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เขตงาน ๑   ดอยผาแดง  บนเทือกเขาภูแว  เขต อ.ทุ่งช้าง  โดยรุกเข้าหาที่หมายเป็น ๔ ทิศทาง  หลังจากฝ่ายเรายึดที่หมายได้เป็นผลสำเร็จ ในขณะที่ฝ่ายเราเตรียมขยายผลกวาดล้างต่อไปนั้น ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์   ได้ระดมกำลังเข้ามาเกาะติดฐาน ทำการกดดันฝ้ายเราด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ซุ่มยิง ลอบยิง วางกับระเบิด  , ยกกำลังเข้าตีฐาน  ทำให้มีกำลังพลบาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ตลอดเวลา  โดยฝ่ายเราไม่สามารถนำผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตออกจากพื้นที่ได้   รวมทั้งการส่งเสบียงก็ไม่สามารถกระทำได้ เช่นกัน  จากปัญหาที่เกิดขึ้น   ทำให้ฝ่ายเราต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ในเวลาต่อมา  
       
       
               ในปี ๒๕๒๔   กองบัญชาการผสมพลเรือน   ตำรวจ   ทหารที่ ๓๒    ได้รับมอบหมายหน้าที่ต่อจากกองพลทหารม้าที่ ๑ ส่วนหน้า โดยได้ดำเนินนโยบายรุกด้านการเมืองสนับสนุนด้วยการรบด้านการทหารต่อไป   ทางด้านกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ ๓๒ ได้เปิดการรุกด้วยยุทธการ สุริยพงษ์ ๑,๒,๓,๔ และ ๕   ตั้งแต่วันที่  ๑๙ ม.ค. ๒๕๒๕   ต่อสู้และกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เรื่อยมา   จนกระทั่ง วันที่  ๔ ธ.ค. ๒๕๒๖   ด้วยการทุ่มเทกำลังกาย   กำลังใจ   ของกองบัญชาการผสมพลเรือน   ตำรวจ ทหารที่ ๓๒ และทหารในกองทัพภาคที่ ๓ ทุกคน   ทำให้ฝ่ายเราได้รับชัยชนะ   ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ต้อง  เสียฐานที่มั่นทั้งหมดในภาคเหนือ     มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทหารหลัก ทหารบ้านและมวลชน   ออกมามอบตัวกว่า ๕,๐๐๐ คน สามารถยึดยุทโธปกรณ์ได้มากมายมหาศาล ถึงแม้ว่าเราจะต้องสูญเสียชีวิตพี่น้องทหารของเราไปเป็น จำนวนหนึ่ง  แต่กองทัพภาคที่ ๓  ก็มีความภูมิใจ  ที่สามารถดับเสียงปืนที่เคยดังระงมตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๒๐ ปี ได้โดยสิ้นเชิง   ทำให้จังหวัดน่าน กลับคืนสู่ความสงบ ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุขตราบเท่าทุกวันนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น